More
    More

      ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” RIFTS : Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s

      -

      ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” RIFTS : Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s

      หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอเรียนเชิญท่านร่วมงานเปิดนิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” RIFTS: Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s

      ในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562

      Artist Talk 
      ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5
      เวลา 16.00 – 18.00 น. กิจกรรมเสวนา โดยศิลปินและภัณฑารักษ์ 

      พิธีเปิดนิทรรศการ ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 
      เวลา 18.00 น. และชมกิจกรรมแสดงสดไม่มีชื่อ (2004), เจ็ดเซียนซามูไร (2019) โดยทีมงาน ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช โปรดักชั่น 

      ศิลปิน: กมล เผ่าสวัสดิ์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, จุมพล อภิสุข, ชาติชาย ปุยเปีย, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ประสงค์ ลือเมือง, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, มานิต ศรีวานิชภูมิ, มณเฑียร บุญมา, ไมเคิล เชาวนาศัย, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ อารยา ราษฎร์จําเริญสุข

      ภัณฑารักษ์: กษมาพร แสงสุระธรรม และ ชล เจนประภาพันธ์ 

      นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก”  ตั้งต้นมาจากการทบทวนภูมิทัศน์ของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 2000 ช่วงเวลาที่มักจะถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้น เรื่อยมาจนกระทั่งถึงขณะที่กล่าวกันว่าศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยพุ่งถึงจุดสูงสุด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมหาศาล ราวกับก่อให้เกิด “รอยแยก” ต่างๆ ในโลกศิลปะไทยที่ยังส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน จากการท้าทายโครงสร้างอำนาจทางศิลปะในเชิงสถาบันและในเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ ทั้งด้วยการสร้างพื้นที่ศิลปะอิสระ การเชื่อมต่อกับเครือข่ายศิลปะข้ามชาติ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสรรค์ผลงานแหวกขนบจากศิลปินหัวก้าวหน้าในขณะนั้น นิทรรศการนี้รวบรวมปฏิบัติการทางศิลปะและวิธีคิดเกี่ยวเนื่องที่ผลิตและปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

      ผลงานศิลปะที่รวบรวมอยู่ในนิทรรศการส่วนหนึ่งเป็นการคัดสรรผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย และวิดีโออาร์ต ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือหลักฐานของการแสดงผลงานศิลปะที่ได้รับการบันทึกไว้ จากผลงานของศิลปินไทย 13 ท่าน ทั้งที่จบการศึกษาศิลปะในประเทศและต่างประเทศ ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาสำคัญนี้เป็นตัวแทนของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แห่งยุคสมัย อันเปรียบได้กับการประกาศการเข้าสู่ภาวะหลังสมัยใหม่ในทางศิลปะ ทั้งการเลือกใช้วัสดุในการผลิตผลงานที่แปลกออกไป ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของเหลือใช้และวัสดุสำเร็จรูป รวมถึงการใช้ร่างกายของศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง และการใช้สื่อศิลปะสมัยใหม่เพื่อสร้างผลงานด้วยเทคนิควิธีและรูปแบบที่ต่างไปจากขนบดั้งเดิม ตลอดจนในเชิงเนื้อหา ผลงานเหล่านี้ไม่เพียงตั้งคำถามกับคุณค่าทางศิลปะแบบจารีตและกรอบคิดว่าด้วยความงามของศิลปะที่สมบูรณ์แบบและมีแบบแผน ในขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์คุณค่าทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับเส้นแบ่งพรมแดนทางความหมาย ช่วงชั้นและลำดับชั้น ตลอดจนประเด็นเรื่องเพศภาวะ เป็นต้น

      นิทรรศการชักชวนให้ผู้ชมสำรวจปฏิบัติการศิลปะอันหลากหลาย ทั้งยังนำเสนอเครือข่ายของผู้คน องค์กร และกิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านผลงานและการจัดแสดงที่จำลองสภาวะของการเผชิญหน้า ความแปลกแยก กระทั่งการเคลื่อนตัวออกจากกันอย่างไม่ลงรอย แม้ผลงานที่คัดสรรมานี้จะถูกจัดวางอยู่ในระนาบเดียวกันทางเวลา แต่ผลงานศิลปะเหล่านี้ต่างก็สร้าง “รอยแยก” ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งต่างเวลา ต่างความหมาย และบางครั้งก็ซ้อนทับกัน ขณะที่บางครั้งก็ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันตามปฏิบัติการทางศิลปะของศิลปินแต่ละท่าน การหันกลับไปทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจึงไม่ได้มุ่งจะสร้างภาพความเข้าใจของสิ่งที่อุบัติขึ้นในโลกศิลปะไทยทั้งหมดในภาพรวม ทว่าต้องการเสนอการกลับไปทำความเข้าใจช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ระยะใกล้จากจุดยืนของปัจจุบัน เพื่อพิจารณาใหม่ว่าจะสามารถเข้าใจยุคทองของโลกศิลปะร่วมสมัยไทยในฐานะที่เป็นช่วงเวลาแห่งรอยแยกที่นำไปสู่การแยกตัว การเกิดรอยเลื่อน และจุดแตกหักต่างๆ ได้อย่างไร

      ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2562 พร้อมกับกิจกรรมสาธารณะ ตลอดทั้งช่วงเวลาของนิทรรศการ

      [td_block_social_counter facebook="/MusicArtMagazine" youtube="channel/UCkBloEDlSI8SYOr4tp50z-g" instagram="musicandartmag" open_in_new_window="y" style="style8 td-social-boxed td-social-font-icons"]

      Related Stories