More
    More

      “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 18 กรุงเทพฯ”

      -

      “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 18 กรุงเทพฯ”

      เปิดเผยรายการแสดงออกมาแล้ว สำหรับ “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 18 กรุงเทพฯ” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 กันยายนถึง 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559 หรืออีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

      ยังคงเป็นเทศกาลเดียวในเมืองไทย ที่รวบรวมการแสดงและดนตรีไว้อย่างหลากหลายที่สุด ทั้งประเภทและประเทศ โดยปีนี้มีการแสดงทั้งสิ้น 16 ชุด จาก 12 ประเทศ มีทั้งโอเปรา บัลเลต์ ซิมโฟนีออร์เคสตรา คอนเสิร์ต ดนตรีแจซ โมเดิร์นแดนซ์ ฟลาเมงโก ระบำอินเดีย และกายกรรม

       

      บัลเลต์

      เริ่มเปิดม่านการแสดงในปีนี้ด้วยระบำปลายเท้าสุดคลาสสิก “Swan Lake” (8-9 กันยายน) …ได้ยินชื่อแล้วอย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าก็คงเหมือนเคยๆ สวอนเลกครั้งนี้เป็นผลงานของคณะสตานิสลาฟสกี บัลเลต์ (Stanislavsky Ballet) จากมอสโก อีกหนึ่งคณะบัลเลต์ชั้นนำของรัสเซียที่ว่ากันว่า สร้างสรรค์สวอนเลกได้เหนือกว่าคณะบัลเลต์ชื่อก้องโลกอย่างบอลชอยและคิรอฟ ดีงามถึงขั้นที่ว่า ทุกครั้งที่แสดงที่นั่งไม่ใช่แค่เต็มแต่ถึงขั้นล้นโรงละครจนเกรงว่าอาจเกิด จลาจลได้

      ปัจจุบัน ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของสตานิสลาฟสกี บัลเลต์คือ อิกอร์ เซเลนสกี (Igor Zelensky) อดีตนักเต้นเอกแห่งมาริอินสกีบัลเลต์ โคเวนต์การ์เดน และนิวยอร์กซิตี้บัลเลต์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมระบำปลายเท้าของคณะนี้ถึงตรึงตราประทับใจผู้ชมได้ อย่างมากมาย คณะสตานิสลาฟสกีบัลเลต์ยังมาพร้อมกับ

      “Giselle” (11 กันยายน) ผลงานการประพันธ์ของ อดอลเฟ อดัม ที่เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2384 (175 ปีที่แล้ว!) ออกแบบท่าเต้นโดย มาริอุส เปติปา นักออกแบบท่าเต้นระดับตำนาน จีเซลล์ คือสาวน้อยชาวไร่ผู้ตกหลุมรักชายหนุ่มสูงศักดิ์ซึ่งมีคู่หมายแล้ว แม้เธอจะอกหักจนตัวตายแต่วิญญาณของเธอก็ยังคอยปกป้องคนรักและชนะทุกสิ่ง นี่เป็นบัลเลต์อีกเรื่องที่มีลีลาสวยๆ แบบบัลเลต์คลาสสิกขนานแท้ที่สะกดคนดูได้เสมอ

      คนชอบบัลเลต์คลาสสิกยังฟินได้อีกกับ “Nutcracker – A Christmas Carol” (8-9 ตุลาคม) เรื่องราวการผจญภัยของสาวน้อยกับตุ๊กตาไม้ในโลกของเล่น แสดงโดยนักบัลเลต์มากความสามารถ 31 ชีวิตจาก 13 ประเทศ ที่รวมตัวอยู่ในคณะคาร์ลสรูเออ บัลเลต์ (Karlsruhe Ballet) หนึ่งในสามคณะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำด้านบัลเลต์คลาสสิกของเยอรมนี กำลังหลักของคณะฯ คือ เบียร์จิต คีล (Birgit Keil) และวลาดีมีร์ คลอส (Vladimir Klos) เคยเป็นนักเต้นเอกของชตุทท์การ์ทบัลเลต์ทั้งคู่ ซึ่งนักเต้นในคณะคาร์ลสรูเออฯ กว่าครึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธ์โดยตรงจากสองปรมาจารย์นี้

      ขยับจากความคลาสสิกมาสู่ดรามาติกบัลเลต์ “Tristan and Isolde” (24 กันยายน) โดยคณะเจนีวาบัลเลต์ (The Geneva Ballet หรือ Ballet du Grand Théâtre de Genève) สวิตเซอร์แลนด์ “ทริสทันอุนด์อิโซล” เป็นเรื่องราวความรักที่ไม่ถูกที่ถูกเวลาของ ทริสทัน อัศวินหนุ่ม กับ อิโซล เจ้าหญิงแห่งไอริช ผู้กำลังจะเป็นเจ้าสาวของกษัตริย์ แรกเริ่ม บทประพันธ์ชิ้นนี้เป็นโอเปรา 3 องก์ แต่ริชาร์ด วากเนอร์เจ้าของบทประพันธ์เรียกงานของตัวเองว่าเป็นเรื่อง “ดรามา” เพราะนอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากตำนานของชาวเคลต์แล้ว ว่ากันว่า วากเนอร์แต่งเรื่องนี้โดยอิงจากชีวิตจริงของตัวเองที่ไปหลงรักภรรยาของผู้มี พระคุณ จนทำให้ครอบครัวของตนล่มสลาย โจแอล บูวิเยร์ (Joëlle Bouvier) นักออกแบบท่าเต้นของคณะเจนีวาบัลเลต์ หยิบบทประพันธ์นี้มาทำเป็นบัลเลต์ร่วมสมัย และน่าดีใจที่ผู้รับบทเจ้าหญิงอิโซลครั้งนี้คือ ปิ๊ก-ศรวณีย์ ธนะธนิต นักบัลเลต์สาวชาวไทยหนึ่งเดียวของคณะฯ ซึ่งถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 3 ปีก่อน ปิ๊ก-ศรวณีย์เคยมาแสดงฝีมือเป็นครั้งแรกในบทจูเลียต (Romeo & Juliet) พร้อมกับเจนีวาบัลเลต์เช่นกัน

      การแสดงอีกหนึ่งชุดของคณะเจนีวาบัลเลต์ในปีนี้คือ “Carmina Burana” (26 กันยายน) งานชิ้นเอกของ คาร์ล ออฟฟ์ ที่อิงกับบทกวียุคกลาง 24 ชิ้น เจนีวาบัลเลต์เลือกนำเสนอคาร์มินา บูรานาในรูปแบบคอนเทมโพรารีบัลเลต์ ออกแบบท่าเต้นโดย คล็อด บรูมาชง (Claude Brumachon) ซึ่งใช้ประสบการณ์กว่า 30 ปีสร้างสรรค์ท่าเต้นที่จะถ่ายทอดออกมาได้อย่างทรงพลังเช่นบทประพันธ์ และเพิ่งจัดแสดงครั้งแรกไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง

      ร่วมสมัยกันต่อกับ “Romeo & Juliet” (12 ตุลาคม) โดยคณะบัลเลต์เพรลโจกาซ (Ballet Preljocaj) จากฝรั่งเศส ความร่วมสมัยในทั้งในแง่รูปแบบ รวมถึงการตีความในปริบทที่ร่วมสมัย อองเจลอง เพรลโจกาซ (Angelin Preljocaj) นักออกแบบท่าเต้น ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของคณะฯ ตีความงานอมตะของเช็กสเปียร์ให้เป็นโศกนาฏกรรมรักในยุคเผด็จการของยุโรป ตะวันออก เป็นเรื่องราวการเผชิญหน้าระหว่างทหารกับคนไร้บ้าน ณ ช่วงเวลาที่กำแพงเบอร์ลินถูกทลาย ท่าเต้นที่ออกแบบโดยเพรลโจกาซร่วมด้วยดนตรีของแซร์เก โปรโคเฟียฟ และโรเมโอ แอนด์ จูเลียต ที่ไม่ใช่เรื่องรักระหว่างสองตระกูลคู่แค้นเป็นอย่างไร ต้องลองดู

      โอเปรา

      เรื่องโอเปราต้องยกให้เทศกาลนี้ ที่ยังหาญกล้านำเข้ามาให้ดูทุกๆ ปี ทั้งเป็นอุปรากรของแท้โดยคณะโอเปราชื่อดังจากยุโรป (จะว่าไป อุปรากรจีนก็เคยมาแล้ว) เรื่องที่เลือกมาก็เป็นโอเปราที่นิยมกันทั่วโลก จากบทประพันธ์ของคีตกวีระดับตำนาน แถมยังมีการแปลบทร้องเป็นสองภาษา ไทยและอังกฤษ (สามภาษา ไทย-จีน-อังกฤษ ก็เคยเช่นกัน) ทำให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น เรียกได้ว่า ลงทุนสูงแต่ยังสู้ เพื่อให้กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนึ่งของโลกที่มีพื้นที่สำหรับงานศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนในเมืองไทยได้ดูงานดีๆ ระดับโลกในราคาย่อมเยากว่า

      ปีนี้ คณะเฮลิคอนโอเปรา (Helikon Opera Theatre) จากมอสโก นำโอเปรามาแสดงสองเรื่องจาก 50 เรื่องที่มีอยู่ในมือซึ่งล้วนเป็นที่ชื่นชอบของทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ เรื่องแรกคนไทยอาจไม่คุ้นนัก “Un Ballo in Maschera” (18 กันยายน) บทประพันธ์ของจูเซปเป แวร์ดี คำร้องโดย อันโตนิโย ซอมมา แต่งไว้ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2400 “อุน บัลโล อิน มัสเกรา” เป็นเรื่องราวของอำนาจ ความรัก การหักหลังของเพื่อน และแผนลับทางการเมือง โอเปราเรื่องนี้ถูกสั่งห้ามเล่นในอิตาลี จนต้องเปลี่ยนทั้งชื่อเรื่องและฉากในเรื่องอยู่ราวสามครั้ง กว่าจะกลายเป็นชื่อนี้และให้แสดงได้เป็นครั้งแรกที่กรุงโรมในปี พ.ศ. 2401

      เรื่องที่สองคือ “Carmen” (20 กันยายน) อุปรากร 2 องก์ของจอร์จ บิเซต์ การ์เมนชุดนี้เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคณะฯ และคว้ารางวัล Golden Mask Award ในสองสาขาคือ ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม และนักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ประสบความสำเร็จทุกครั้งที่เปิดแสดงไม่ว่าจะในรัสเซียหรือต่างประเทศ นอกจากจะมีผู้กำกับฯ และนักแสดงระดับรางวัลแล้ว นักร้องประสานเสียงของคณะก็ได้รับรางวัลจากงาน The Opera Awards (2013) ซึ่งถือว่าเป็นงานประกวดด้านโอเปราที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก ขณะที่ผู้กำกับเวที และวาทยกร เป็นศิลปินแห่งชาติของรัสเซีย และผู้ออกแบบท่าเต้นก็เป็นศิลปินเกียรติยศของรัสเซีย เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งคณะโอเปราคุณภาพจริงๆ

       

      ดนตรี

      นอกจากบัลเลต์และโอเปราแล้ว อีกหนึ่งการแสดงที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้ก็คือ ดนตรีในแนวคลาสสิกอย่างออร์เคสตราและแจซ ใครชอบอลังการงานดนตรีอย่างออร์เคสตรา ปีนี้จัดมา 2 วงจาก 2 ประเทศ “The Israel Camerata Orchestra” (22 กันยายน) หนึ่งในวงดุริยางค์ชั้นนำของอิสราเอล ควบคุมวงโดย เอฟเนอร์ ไบรอน(Avner Biron) วาทยกรและผู้อำนวยการฝ่ายดนตรีที่ทั้งบุกเบิกและพัฒนาจนวงเข้าสู่มาตรฐาน สูงสุดถึงขั้นมีรางวัลเป็นประกัน อิสราเอล คาเมอราตามีการแสดงกว่า 100 ครั้งต่อปีทั้งในอิสราเอลและต่างประเทศ แสดงตั้งแต่ดนตรีบาโรกจนถึงคลาสสิกร่วมสมัย ครั้งนี้วงจะบรรเลงบทเพลง Divertismento for String Orchestra ของเบลา บาร์ต็อก Cello Concerto No.1 ของโจเซฟ ไฮเดิน Kaddish ของมาร์ก โคปีต์แมน และ Symphony No. 5 ของฟรันซ์ ชูเบิร์ต

      วงดุริยางค์ที่สองมาจากตุรกี “The Presidential Symphony Orchestra” (14 ตุลาคม) เป็นวงออร์เคสตราที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของตุรกีและเก่าแก่ที่สุดวงหนึ่งของ โลก ก่อตั้งตามความประสงค์ของสุลต่านมาห์มุดที่สอง ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2369 โดยเชิญจูเซปเป โดนิเซตติจากราชสำนักออสเตรีย-ฮังการี มาช่วยตั้งและกำกับวง กระทั่งบ้านเมืองเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ นี่ก็ยังเป็นวงเดียวที่ได้แสดงในพระราชวัง หัวหน้าวาทยกรคนปัจจุบันคือ เรนจิม ก็อกเมน (Rengim Gokmen) โดยครั้งนี้จะบรรเลง Kocekce (Dance Rhapsody) ของอูลวี เคมาล เออร์กิน The Moldau ของเบดริช สเมตานา Hungarian Rhapsody ของฟรานซ์ ลิซต์ และ Symphony No. 2 ของแซร์เก รัคมานินอฟฟ์

      อีกหนึ่งคืนที่ขาดไม่ได้คือ “ค่ำคืนแห่งแจซ” (3 ตุลาคม) วันที่แสนคุ้มค่าสำหรับคนรักดนตรีแจซ ด้วยราคาบัตรเริ่มต้นแค่ 600 บาท แต่ได้ดื่มด่ำกับวงดนตรีแจซคุณภาพ 2 วงในค่ำคืนเดียว วงแรก “The Suffle Demons” (3 ตุลาคม) วงดนตรีฟิวชันแจซจากแคนาดา ที่สร้างปรากฏการณ์ในแคนาดาด้วยการนำเสนองานดนตรีที่มาพร้อมความบันเทิง พวกเขามีผลงานมาแล้ว 8 ชุด มีคอนเสิร์ตเฉพาะในแคนาดา 25 ครั้ง และอีกเกือบ 30 ครั้งในต่างประเทศ

      วงที่สองมาจากเบลเยียม “Belgian Saxophone Ensemble” (3 ตุลาคม) วงดนตรีแซกโซโฟนล้วน โดยนักแซกโซโฟน 13 คน คงไม่บ่อยนักที่เราจะได้ดูได้ชมได้ฟังดนตรีจากวงดนตรีแบบนี้ แซกโซโฟน 13 ตัวจะสร้างเสียงประสานกันออกมาเป็นบทเพลงได้ไพเราะขนาดไหน น่าสนใจมาก

      และค่ำคืนที่เชื่อว่าทุกคนจะร้องตาม คือค่ำคืนของ “Hollywood Sound of Cinema” (27 กันยายน) คอนเสิร์ตเพลงประกอบภาพยนตร์โดยนักร้องนานาชาติ 8 คน การแสดงชุดนี้ประสบความสำเร็จมากที่ประเทศจีน โดยเปิดแสดงอยู่ร่วม 4 เดือน และอีก 4 เดือนกับการทัวร์ในยุโรป ทั้งได้รับรางวัลและได้รับเชิญไปร่วมรายการดังๆ ในยุโรปมากมาย คนเรามักมีโลกส่วนตัวที่ฝังติดอยู่กับเพลงที่คุ้นหู ว่าช่วงเวลานั้นๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ คอนเสิร์ตนี้จะพาเรากลับไปสู่โลกตรงนั้น และเชื่อว่าแต่ละคนจะกลับไปพร้อมความประทับใจที่ไม่เหมือนกัน

       

      กายกรรม ระบำพื้นเมือง และโมเดิร์นแดนซ์

      กายกรรมเป็นการแสดงที่น่าดูเสมอ ทั้งน่าตื่นตา น่าหวาดเสียว น่าทึ่ง และสวย โดยเฉพาะกายกรรมจากจีน “China Natinal Acrobatic Troupe” (30 กันยายน, 1-2 ตุลาคม) คณะกายกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อตั้งโดยรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และเป็นหนึ่งในคณะกายกรรมที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของจีน เปิดการแสดงมาแล้ว 124 ประเทศ ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ ทั่วโลกรวม 58 เหรียญทอง การแสดงที่นำเสนอครั้งนี้เป็นผลงานใหม่ ที่ผสมผสานกายกรรมเข้ากับการเต้น และอารมณ์แบบละคร เรียกได้ว่า ยังคงผาดโผนเร้าใจเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือดรามา กายกรรมแบบดรามาเป็นอย่างไร ปลายเดือนกันยายนนี้ได้พิสูจน์กัน

      อินเดียนแดนซ์เป็นหนึ่งในการแสดงที่มักสร้างความประทับใจได้เกินคาด อาจเพราะหลายคนมีภาพจำของหนังอินเดียอยู่ติดตาและคิดว่าระบำอินเดียจะเป็น อย่างนั้น แต่ความจริงระบำอินเดียมหัศจรรย์มากเสียงกระพรวนข้อเท้า (ฆุงฆรู–ghungroos) กับเท้าเปล่าของนักแสดงที่ย่ำลงบนพื้นเวที สร้างความสนุกเร้าใจได้อย่างเหลือเชื่อ อารมณ์เดียวกับระบำฟลาเมงโกของสเปนอย่างไรอย่างนั้น การแสดงชุด “Uncharted Seas” (14 กันยายน) โดย อดิติ มันคัลดัส แดนซ์ คอมปานี (Aditi Mangalda Dance Company) จะทำให้เห็นนาฏศิลป์อินเดีย ในมุมมองของคนสมัยใหม่ ที่ผสานทักษะการเต้นที่เชี่ยวชาญเข้ากับนวัตกรรม บทกวี และดนตรี ได้อย่างกลมกลืน โดยยังคงมีเสียงฆุงฆรูสร้างพลังได้อย่างมีเอกลักษณ์ อดิติเป็นนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้น “กถัก” ชั้นนำคนหนึ่งของวงการ (kathak-รูปแบบการเต้นรำคลาสสิกชนิดหนึ่งของระบำอินเดีย) แน่นอนว่า เธอรักกถักแบบดั้งเดิม แต่ก็ไม่ปิดกั้นสิ่งใหม่ๆ และนำมาประยุกต์เข้ากับงานได้อย่างน่าสนใจ เปิดใจให้กับระบำอินเดีย แล้วคุณจะติดใจ

      พาดพิงถึงฟลาเมงโก ฟลาเมงโกก็มา “Voces, Suite Flamenca” (16 ตุลาคม) โดย ซารา บาราส แดนซ์ คอมปานี (Sara Baras Dance Company) คณะฟลาเมงโกที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในสเปน ซารา บาราสมาร่วมในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ อยู่หลายครั้ง และไม่เคยทำให้ผิดหวัง ที่นั่งของการแสดงฟลาเมงโกถูกจับจองเต็มอย่างรวดเร็วทุกที หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษเคยเขียนถึงซารา บาราสไว้ว่า การเต้นฟลาเมงโกของเธอไม่ใช่เป็นแค่พายุแต่เป็นดั่งเฮอร์ริเคน! การแสดงชุด “โบเซส” คือผลงานล่าสุดของคณะฯ ที่ใช้นักแสดงถึง 15 คน เวทีศูนย์วัฒนธรรมฯ สะเทือนกว่าครั้งไหนๆ แน่ๆ แนะนำให้รีบจองตั๋วแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่อยากพลาดฟลาเมงโกอันมหัศจรรย์ของซารา บาราสและคณะ

      ส่งท้ายการแสดงที่อวดพลังและความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ด้วยโมเดิร์นแดนซ์จากนิวยอร์ก “Paul Taylor Dance Company” (18-19 ตุลาคม) พอล เทย์เลอร์ ได้ชื่อว่าเป็นนักออกแบบท่าเต้นแห่งยุค คณะของเขาถือเป็นคณะนักเต้นร่วมสมัยรุ่นบุกเบิกของวงการเต้นในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เปิดแสดงมาแล้วกว่า 500เมืองใน 62 ประเทศ จนถึงวันนี้ งานของพอล เทย์เลอร์และคณะ ก็ยังเรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกได้อยู่ เพราะสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกแบบท่าเต้นที่ซับซ้อนอย่างน่าอัศจรรย์ขึ้นมาเสมอ การแสดงของคณะพอล เทย์เลอร์ในปีนี้มี 2 วัน รายการแสดงไม่เหมือนกัน ใครชอบแนวนี้คงต้องดูทั้งสองวันเพราะไม่ซ้ำกัน ราคาบัตรเริ่มต้นเพียง 800 บาทเท่านั้นสำหรับโชว์นี้

      ทั้งหมดนี้คือการแสดงที่อธิบายความหมายของชื่อเทศกาลที่ว่า “มหกรรม” “ศิลปะการแสดง” และ “ดนตรี” “นานาชาติ” อย่างแท้จริง

      การแสดงทุกชุดจัดแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ การแสดงรอบบ่ายเริ่มเวลา 14.30 น. และรอบค่ำ 19.30 น. (ยกเว้นระบำฟลาเมงโก Voces แสดงเวลา 18.00 น.) รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokfestivals.com และซื้อบัตรได้แล้วที่ www.thaiticketmajor.com

      มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 18 กรุงเทพฯ จัดโดย บริษัท อินเตอร์เนชันแนล คัลเจอรัล โปรโมชันส์ จำกัด และร่วมสนับสนุนโดย สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน), บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย, บีกริมม์, โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพ, บริษัทอินโดรามาเวนเจอร์ส, เนชั่นกรุ๊ป, สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ กระทรวงวัฒนธรรม

      [td_block_social_counter facebook="/MusicArtMagazine" youtube="channel/UCkBloEDlSI8SYOr4tp50z-g" instagram="musicandartmag" open_in_new_window="y" style="style8 td-social-boxed td-social-font-icons"]

      Related Stories