More
    More

      คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับไทยเบฟ ยกระดับผลิตภัณฑ์ สโมสรฟุตบอลสุโขทัยเอฟซี เปลี่ยนโฉมค้างคาวไฟมองมุมใหม่ด้วยผ้าขาวม้าทอมือ

      ในปัจจุบัน การเติบโตของวงการฟุตบอลไทยก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก โดยส่งผ่านมายังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างการลงทุนในการทำทีมฟุตบอล ซึ่งในส่วนของสมาคมฟุตบอลไทยก็ต้องการยกระดับมาตรฐานการจัดการสโมสรฟุตบอลภายในประเทศให้เป็นไปตามกฏของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียหรือ AFC เพื่อให้ได้เข้าแข่งขันรายการฟุตบอลระดับทวีป 

        จากประเด็นดังกล่าว สมาคมฟุตบอลไทยจึงได้มีการปรับโครงสร้างทีมฟุตบอลสโมสร โดยให้เป็นการก่อตั้งจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีการสนับสนุนให้สโมสรเดิมหาพันธมิตรจากจังหวัดต่างๆในประเทศ และสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดก่อตั้งสโมสรฟุตบอลเพื่อเข้าแข่งขันในรายการของสมาคม โดยมีหน่วยงานเอกชนหลายแห่งให้การสนับสนุน ทำให้แต่ละสโมสรมีฐานแฟนบอลขึ้นมา เนื่องจากความรักในจังหวัดหรือถิ่นฐานของตนเอง ส่งผลให้มีการสนับสนุนจากแฟนบอลเข้ามาอีกทาง สร้างรายได้ของแต่ละสโมสรให้มากขึ้นจากค่าเข้าชมและการขายของที่ระลึก แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกสโมสร เพราะในความเป็นจริงมีเพียงไม่กี่สโมสรเท่านั้นที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากการขายสินค้าผลิตภัณฑ์กีฬาของสโมสรเมื่อเทียบกับจำนวนแฟนบอล

      ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรพันธ์ สุระประเสริฐ

      บริษัท ไทยเบฟเวอเรจจำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน สโมสรสุโขทัยเอฟซี ได้เล็งเห็นโอกาส จึงได้ประสานงานและสนับสนุนงบประมาณมายังคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ช่วยนำคณาจารย์และนักศึกษาร่วมลงพื้นที่ เก็บข้อมูลกับทางสโมสรสุโขทัย เอฟซี โดยทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรพันธ์ สุระประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบและธุรกิจแฟชั่นคณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นที่ปรึกษาโครงการนี้

      ทางทีมออกแบบได้ศึกษาข้อมูลและมองหาแรงบันดาลใจหรือสิ่งที่จะนำมาใช้ในการออกแบบ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสุโขทัย เพราะการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัดจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนในจังหวัดรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ความภาคภูมิใจ และจะทำให้อยากมีส่วนร่วมกับสโมสรมากยิ่งขึ้น ทาง โครงการ Eisa (Education Institute Support Activity) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนหลายจังหวัดในประเทศไทย จึงได้ประสานกับชุมชนทอผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยวในจังหวัดสุโขทัยให้พูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย และนำชมตัวอย่างผ้าขาวม้าของชุมชน ทางทีมออกแบบพบว่าผ้าขาวม้าของชุมชนมีความน่าสนใจและโดดเด่นที่การจกลายที่พัฒนาจากลายจกไทยพวนมาช้านาน จึงมองเห็นว่าอัตลักษณ์ที่โดดเด่นกับฝีมือในการทอผ้าขาวม้าของชุมชนทอผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยว จะสามารถช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์กีฬาของสโมสรฟุตบอล สุโขทัยเอฟซี ให้เข้าถึงกลุ่มแฟนบอลที่มีความรักในสโมสรมากขึ้นได้ โดยผ่านการออกแบบที่ใช้วัสดุและลวดลายจากผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยว นำการจกลายมาประยุกต์ให้เข้ากับแนวคิดที่จะปรับภาพลักษณ์ทางการตลาดของสโมสร ให้เป็นแบรนด์สินค้าแนวสตรีทสปอร์ต โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

      1.นำตราสัญลักษณ์รูปค้างคาวไฟของสโมสรมาปรับให้เป็นรูปแบบลายจก(ในส่วนของการนำไปใช้จะแยกส่วนกันกับของเดิม) โดยทางทีมได้ลองออกแบบและส่งให้ทางชุมชนจกลายค้างคาวขึ้นมา จนได้ลายที่ลงตัวและเหมาะกับความเป็นสตรีทสปอร์ตและเหมาะสมกับการนำไปใช้

      2.การสร้างชุดสีในการทอผ้าขาวม้าให้เป็นสีประจำสโมสรสุโขทัย เอฟซี เดิมทีทางชุมชนจะไม่ค่อยได้ใช้สีที่มีความสดใสในการทอผ้าขาวม้ามากนัก เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ซึ่งการสร้างชุดสีในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก อาจารย์ปรัชญา พิระตระกูล หัวหน้าหลักสูตรการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คอยควบคุมให้ออกมาเหมาะสมกับการนำไปใช้มากที่สุด

      3.การสร้างภาพลักษณ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์กีฬาให้เกิดรูปแบบสตรีทสปอร์ตด้วยเทคนิค การตัดต่อ การพิมพ์ลาย การปัก ผสมผสานกับวัสดุที่ทันสมัย

      หลังจากที่ได้แนวทางและองค์ประกอบในการออกแบบแล้ว ก็มอบหมายให้นักศึกษาในรายวิชาการออกแบบสร้างสรรค์งานแฟชั่น และการออกแบบเครื่องตกแต่งและเครื่องประดับ ไปออกแบบชุดกีฬา เสื้อผ้าแนวสตรีทสปอร์ต และผลิตภัณฑ์กีฬา เช่น กระเป๋าลักษณะต่างๆ ผ้าพันคอ หน้ากากผ้า โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรพันธ์ สุระประเสริฐ เป็นผู้ควบคุมการออกแบบและนำผลงานทั้งหมดให้ทางตัวแทนสโมสรร่วมกันคัดเลือก จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา และนำไปผลิตชิ้นงานจริง โดยบางส่วนได้รับความร่วมมือจาก นางสาวกัญญพัชร พิพิธทอง เจ้าของแบรนด์ Pipit ศิษย์เก่าของหลักสูตรการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นคนจังหวัดสุโขทัย ที่เปิดแบรนด์สินค้าผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมืองของจังหวัดอยู่แล้วดำเนินการผลิตให้ ยิ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินขึ้น จากสโมสร สู่กลุ่มทอผ้า ช่างทอผ้ามีงานเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตมีส่วนร่วม แฟนบอลได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่คนในจังหวัดมีส่วนร่วมเรียกได้ว่าแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์

      ต่อเนื่องจากการที่ชุมชนทอผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยวได้มีส่วนร่วมกับงานในครั้งนี้ ทางคณาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ได้แก่ อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก อาจารย์ปรัชญา พิระตระกูล อาจารย์ณมณ ขันธชวะนะ และผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลวรรณ พัชรพรพิพัฒน์ สารสุข มีความต้องการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าทอมือในกลุ่มสินค้าอื่นๆให้กับทางชุมชน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการขายและสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงได้นำทีมนักศึกษาลงพื้นที่ ร่วมออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้แก่ชุมชน เพื่อใช้เป็นแนวทางต่อไป 

      [td_block_social_counter facebook="/MusicArtMagazine" youtube="channel/UCkBloEDlSI8SYOr4tp50z-g" instagram="musicandartmag" open_in_new_window="y" style="style8 td-social-boxed td-social-font-icons"]

      Related Stories