More
    More

      ท่องพระนครกับ KTC

      -

      ท่องพระนครกับ KTC

      ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับบริษัท บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี ตั้งแต่ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งมาถึงตอนนี้ ตอนที่ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ความสุขกำลังกลับมาหาอีกครั้ง กิจกรรมแห่งความสุข เบิกบาน สำราญใจ กำลังกลับมา ขอชื่นชมองค์กรและสตาฟของเคทีซี ที่มีความจริงจังและจริงใจในกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

      ล่าสุด 15 กันยายน ที่ผ่านมา เคทีซีจัดทริป The Secret of พระนคร “เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ” เป็นทริปที่เคทีซีได้เลือกสรรที่จะพาสื่อมวลชน ได้ร่วมย้อนรอยความก้าวหน้าของสยามประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สู่ความเป็นอารยประเทศ  กิจกรรมทัวร์พระนครครั้งนี้มีคุณ ธานัท ภุมรัช เลขานุการศูนย์ประวัติศาสตร์ข้อมูลชุมชนธนบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เป็นผู้ให้ความรู้

      เริ่มออกเดินทางกันแต่เข้า เนื่องจากทริปตะลอนพระนครวันนี้มีหลากหลายสถานที่ซึ่งในแต่ละที่ผมแน่ใจว่าคนไทยบางคนอาจไม่รู้จัก และไม่เคยได้ยิน ดังเช่น “หอวชิราวุธานุสรณ์” อยู่ติดกับหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี หอวชิราวุธานุสรณ์ ก่อตั้งโดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ได้รับเกียรติจากคุณประเสริฐ โกมลสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานบริหารหอนิทรรศการ ให้เกียรตินำคณะสื่อมวลชนได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด เริ่มจากโถงชั้น 1 ห้องอัศวพาหุ ด้านหน้าพระบรมรูปหุ่นฉลองพระองค์เครื่องทรงมหาพิชัยยุทธ ก่อนขึ้นไปชมห้องมุดรามจิตติ ห้องสมุดเฉพาะที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์ และอีก 6,432 นามสกุลพระราชทาน สัมผัสเรื่องราวพระราชประวัติของพระองค์ ต้นกำเนิดกิจการลูกเสือ การวางรากฐานการศึกษา และรากฐานการเรียนรู้ประชาธิปไตยในหมู่ข้าราชบริพาร ชมห้องพระบรมราชะประทรรศนีย์ ปิดท้ายที่ห้องสถานธีรนิทรรศน์ ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการพระราชวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของพระองค์

      หลังจากนั้นก็นั่งรถต่อไปร้านเซ่งชง ร้านเครื่องหนังเก่าแก่ยุคแรก ที่เปิดกิจการมากว่า 126 ปี เป็นตระกูลที่รับใช้ใต้เบื้องพระยุคบาท ตัดฉลองพระบาทให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เป็นต้นกำเนิดร้านเครื่องหนังที่สร้างงานถวายราชสำนัก ปัจจุบันคุณอาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา ทายาทรุ่นที่ 4 เป็นผู้สืบทอดกิจการของเซ่งชง หรือหลวงประดิษฐบาทุกา ที่ได้รับความเมตตาในการพระราชทานราชทินนามจากล้นเกล้าฯ และได้นำมาใช้เป็นนามสกุล “ประดิษฐบาทุกา” สืบมา เครื่องหนังร้านเซ่งชงนี้เป็นที่ถูกใจของคณะสื่อมวลชน ด้วยเพราะงานที่ประณีตและรูปแบบที่สวยงาม ก้อช็อปกันสิครับ ไม่ไกลจากร้านเครื่องหนังเซ่งชง ราวสิบเอ็ดโมงเศษ เรามาถึงโรงแรม “เดอะระวีกัลยา แบงค็อก” เพื่อจะได้เรียนรู้เรื่อง “น้ำปรุง” น้ำหอมที่มีมาแต่โบราณ  ซึ่งสันนิษฐานว่าเริ่มมีใช้กันในพระบรมมหาราชวังมาก่อน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เจ้านายในวังนิยมใช้เป็นน้ำหอมประจำพระองค์ รวมถึงลูกหลานขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งแต่ละตำหนักจะมีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ การนี้ “ครูเอ๋” หรือคุณทิวาพร เสกตระกูล ผู้แทนครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เจ้าของแบรนด์เทวาภิรมย์ เป็นผู้สาธิตการทำ “น้ำปรุง” เครื่องหอมไทยชั้นสูงที่ได้มาจากการสกัดกลิ่นหอมของดอกไม้ไทยหลายชนิด อาทิ ใบเนียม ใบเตยหอม พิมเสนจีน ไขชะมดเช็ด มะกรูด ใบพลู เอทิลแอลกอฮอล์ ในปริมาณและสัดส่วนที่เป็นสูตรเฉพาะ (วัตถุดิบส่วนประกอบนี้คุณเอ๋เรียนว่า เป็นสูตรปรุงสำหรับกลิ่น KTC Press Club โดยเฉพาะค่ะ) วัตถุดิบนี้สามารถหาซื้อได้จากร้านถาวรธนสาร ถนนจักรวรรดิ์ กรุงเทพฯ นี่ละครับ

      เรารับประทานอาหารกลางวันกันที่ห้องอาหาร เดอะ ระวีกัลยา ไดนิ่ง ภายในโรงแรม เป็นมื้ออาหารที่เน้นวัตถุดิบออร์แกนิคจากธรรมชาติตามฤดูกาล เป็นมื้อกลางวันที่อร่อยมื้อหนึ่งเลยครับ

      โรงแรม “เดอะระวีกัลยา แบงค็อก” แห่งนี้ มีความสวยงามตามสไตล์โคโลเนียน เป็นเรือนโบราณของคุณทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา แม่นมของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 และเป็นมารดาของเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวา มหาดเล็กคู่พระทัยของพระองค์ท่าน ซึ่งปัจจุบันยังคงความงดงามและความประทับใจแก่ผู้ที่ได้มาเยี่ยมเยือน

      ต่อจากนั้น เดินทางต่อไปที่บ้านพิบูลธรรม เชิงสะพานยศเส เป็นอาคารที่งดงามสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เรียกได้ว่าเป็นอาคารงามสองแผ่นดิน มีภาพวาดสีปูนเปียกตอนสำคัญในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ บนเพดานและฝาผนังในห้องต่างๆ ซึ่งบ้านพิบูลธรรมปัจจุบันคือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ปิดท้ายด้วย “หัวลำโพง” สถานีรถไฟหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองพระนคร เมื่อยังเด็กผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้มาขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง สัมผัสได้ถึงความโอ่โถงและยิ่งใหญ่ แต่ในวันนี้ผมมาในฐานะผู้เยี่ยมชมแบบเอ็กซ์คลูซีฟ โดยมีว่าที่ ร.ต.ปิติพนธ์ ศรีอุ้มสุข เป็นผู้นำชมและเล่าถึงวิวัฒนาการของกิจการรถไฟไทย ที่สร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบอิตาเลียน-เรอเนซองส์ ซึ่งอาคารบางส่วนประดับด้วยหินอ่อนและลวดลายปูนปั้น ซึ่งคล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี

      เราจบทริปตะลอนพระนครวันนี้กันที่หัวลำโพงครับ อิ่มเอม อิ่มอร่อย ได้ความรู้ สนุก มีความสุข ที่สำคัญ ได้นำมาแบ่งปันกันครับ

      [td_block_social_counter facebook="/MusicArtMagazine" youtube="channel/UCkBloEDlSI8SYOr4tp50z-g" instagram="musicandartmag" open_in_new_window="y" style="style8 td-social-boxed td-social-font-icons"]

      Related Stories