More
    More

      อำนาจเลอะมูล (Soft Power) แบบไทยๆ By ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

      -

      อำนาจเลอะมูล (Soft Power) แบบไทยๆ By ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

      นับตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กลับคืนสู่กรุงเทพฯ หลังจากลี้ภัยไปนาน 15 ปี และรัฐสภาเลือกเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยในวันเดียวกันนั้น การเมืองและวัฒนธรรมไทยก็เต็มไปด้วยเรื่องดราม่าน่าตื่นเต้น ภายใต้รัฐบาลใหม่ของเศรษฐา เพียงช่วงเวลาสั้นๆ มีเหตุการณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายอย่าง คอนเสิร์ตของไวทยากรระดับโลก สุบิน เมทา (Zubin Metha) และวงซิมโฟนีออร์เคสตรา มาจโจ มูซิกาล ฟลอเรนติโน (Maggio Musicale Florentino) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, งานเปิดตัวรอบเวิลด์พรีเมียร์ภาพยนตร์เรื่อง “The Spirits of Maritime Crossing” (วิญญาณข้ามมหาสมุทร) นำแสดงโดย มารินา อบราโมวิช และ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ในเทศกาลภาพยนตร์ศิลปะที่เมืองเซนต์มอริตซ์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์; นิทรรศการภาพถ่ายย้อนความทรงจำ “Memoria” ของ เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และงานแสดงจิตรกรรมอันน่าหลงใหลของแพร พู่พิทยาสถาพร จาก โนวา คอนเทมโพรารี ในงาน Frieze Seoul International Art Fair

      รัฐบาลเศรษฐายังได้เรียกเสียงเอ็ดตะโรกึกก้อง ก่อนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน เมื่อดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิคและสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ประกาศกิจกรรมฮือฮาปาอุจจาระ  ดวงฤทธิ์เป็นผู้สนับสนุนทักษิณและกลุ่มเสื้อแดงอย่างภักดี เคยลั่นวาจาว่าหากพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีกองทัพหนุนหลัง เขาจะยอมให้คนปาอุจจาระใส่เขาเป็นเวลา 11 นาที ดวงฤทธิ์ ผู้รักษาคำพูดได้คลุมตัวตั้งแต่หัวจรดเท้านั่งปล่อยให้คนเทและปาอุจจาระใส่  ทีเด็ดของการเล่นปาหี่ครั้งนี้อยู่ที่มีการจัดฉาก ชายสวมหน้ากากอดีต รองนายกฯ ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ ร่วมปาอุจจาระใส่ให้อับอาย  การเรียกเสียงฮือฮาจึงอ่อนพลังและจางหาย กลายเป็นเรื่องการแสดงปลอมๆไม่ก่อการณ์ใด  ผู้ที่มาประท้วงในเหตุการณ์เรียกร้องให้ดวงฤทธิ์และพรรคเพื่อไทยขอโทษเพราะทรยศไม่รักษาสัจจะที่ให้กับพรรคก้าวไกล และประชาชน หลังจากนั้น กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย เขียนว่ากิจกรรมปาอุจจาระของดวงฤทธิ์เปรียบเทียบได้กับงานแสดงเพอร์ฟอร์มแมนซ์ของ มาริน่า อบราโมวิช และผลงาน “ผัดไทย” ของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ที่เกี่ยวกับสุนทรียภาพเชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetics)  น่าเศร้าใจกับความพยายามของกลุ่ม CARE ที่พยายามบอกว่าการเล่นอุจาดตาของดวงฤทธิ์ เป็นศิลปะแสดงเพอร์ฟอร์มแมนซ์ แต่ส่งผลสะท้อนกลับเป็นความเสียหายเลวร้าย ทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่ม CARE และสมาชิกเสื่อมเสียไปอีก

      ดวงฤทธิ์ บุนนาค ถูกราดด้วยมูลวัว ที่ Mirror Art

      ด้วยความที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐาก่อตั้งขึ้นอย่างเร่งรีบท่ามกลางเสียงโห่ร้องของสาธารณชนเกี่ยวกับการ ไม่รักษาคำมั่นสัญญา ตระบัดสัตย์ และหักหลัง พรรคก้าวไกลรัฐบาลจึงแทบไม่มีเวลาเปิดตัวการรณรงค์นโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์หรืออำนาจละมุนที่วาดหวังไว้สวยหรู  น่าเสียดายอีกที่ไม่มีความพยายามแก้ไขประเด็นซ้ำซากของโครงการซ้ำซ้อนของรัฐบาล การกระจายงบประมาณ และการขาดการ

      ประท้วงดวงฤทธิ์ บุนนาค ที่ Mirror Art  ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวราษฎร

      บูรณาการระหว่างกรมกองและกระทรวง  พาให้นึกถึงแผนอลังการงานสร้างของสำนักงานพัฒนาองค์ความรู้และการจัดการ (OKMD) ที่ริเริ่มตั้งแต่รัฐบาลทักษิณภายใต้ การนำของพันศักดิ์ วิญญรัตน์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน TCDC, TK Park และมิวเซียมสยาม ก่อนหน้านี้ เงินทุนวนเวียนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกซึ่งมีเครือข่ายจำกัดในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่สาขาของ TCDC และ TK Park ในต่างจังหวัด ยังคงไม่พบความสำเร็จ

      ปัจจุบัน Thailand Creative Content Agency (THACCA) ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงโดยพรรคเพื่อไทยเพื่อเลียนแบบ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์และกระแสซอฟต์พาวเวอร์ ล่าสุดมีการแต่งตั้ง กรรมการยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาเวอร์แห่งชาติ เพื่อรณรงค์กระแสประชานิยมในการเพิ่ม GDP ตามแนวนโยบายสนับสนุนวัฒนธรรม  5 F ของรัฐบาลประยุทธ์ ที่เน้นด้านอาหาร แฟชั่น ภาพยนตร์ เทศกาล และมวยไทย เพิ่มเติมด้วยวรรณกรรม การท่องเที่ยว และกีฬา

      การขาดวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ของ THACCA เกี่ยวกับศักยภาพในการสร้างสรรค์และจินตนาการของไทยนั้นเห็นได้ชัด แทนที่จะปรับโครงสร้างระบบนิเวศทางศิลปะและการออกแบบ  และจัดสรรงบประมาณเพื่อกระตุ้นสถานที่แสดงศิลปะ รัฐบาลนี้ยังคงอาศัยการรณรงค์และโครงการประชานิยมสารพัดโปรเจกต์ที่ล้าสมัยดูแล้วเปรียบกับไวน์แดงที่หมดอายุและเอาบรรจุเข้าไปในขวดเดิม แทนที่จะชูแนวคิดประเภทโอ้อวด เช่น หนึ่ง TCDC หนึ่งจังหวัดและหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟท์พาวเวอร์เพื่อลดความยากจนและกระตุ้นเศรษฐกิจ THACCA ควรสนับสนุนสถาบันศิลปะ ศูนย์ศิลปะอิสระ และพื้นที่ดำเนินงานของศิลปิน ทั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC), หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทย ร่วมสมัย (MOCA), หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (JTAC), พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM), หอศิลป์ใหม่อีหลี ขอนแก่น (MAIELIE Khonkaen),  หอศิลป์ Pattani Art Space, หอศิลป์ เดอลาแป อาร์ท สเปซ นราธิวาส (De’ Lapae Art Space Narathiwat), หอศิลป์ริมน่าน  ซึ่งล้วนมีงบประมาณจำกัด แต่ประสบความสำเร็จมากกว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และศูนย์ศิลปะของรัฐบาลมาก  แทนที่จะเปลืองงบประมาณกับโครงการเพ้อฝันเพื่อเปิด หนึ่ง TCDC หนึ่งจังหวัดให้สอดคล้องกับการรณรงค์ประชานิยมของพรรคเพื่อไทย รัฐบาลต้องพิจารณาจัดสรร งบประมาณอย่างจริงจังให้กับศูนย์ศิลปะและองค์กรศิลปะที่ไม่แสวงหาผลกำไรเหล่านี้

      ประเด็นนี้นำไปสู่นโยบายศิลปะและวัฒนธรรมของรัฐบาลเศรษฐาตลอดจนการตีความซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย  เสน่ห์และการต้อนรับแบบไทยๆ ที่มีความสามารถในการโน้มน้าวใจ เข้ากันได้ดีกับแนวคิดของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) เรื่องซอฟต์พาวเวอร์มีพลังโน้มน้าวใจเหนือกว่าการใช้กำลังบังคับด้วยอำนาจ และการทหาร ซึ่งสำคัญในแง่ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และการฑูตทางวัฒนธรรมอย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงซอฟต์พาวเวอร์ของไทย มีนัยมากกว่าการบ่มเพาะความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ แต่เลยไปถึงแผนการรวยเร็วที่รองรับขบวนการประชานิยมระดับชาติ  การเลียนแบบความสำเร็จของเกาหลีในเรื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสารัตถะนั้น ทาง THACCA จะต้องจัดการกับโครงสร้างอำนาจแบบเก่าที่มีหน่วยงานของรัฐคอยขัดขวางความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาทางศิลปะเพราะต้องการเร่งเพิ่ม GDP ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของข้าราชการอนุรักษ์นิยมสุดขั้วอย่างเร่งด่วน รวมทั้งปรับโครงสร้างกลุ่มงานที่ซ้ำซ้อนหรือเข้ากันไม่ได้

      ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย สื่อโสตทัศน์ และสารัตถะ จำเป็นต้องปรับโครงสร้างใหม่อย่างเร่งด่วน เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีหน้าที่รับผิดชอบด้านเงินทุน การส่งเสริมการขาย การเซ็นเซอร์ การพัฒนาการเขียนบท และสถานที่ถ่ายทำที่แตกต่างกัน ทั้งสามกระทรวงทำงานในทิศทางต่างกัน ภาคส่วนเหล่านี้รวมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย  และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ควรอยู่ภายใต้การอำนวยการแบบครบวงจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ครอบคลุม และลดโครงการซ้ำซ้อน

      พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในพระราชวังเดิมควรถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสำหรับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ กรมศิลปากรควรได้รับการขึ่นชมที่ได้ปรับปรุง ออกแบบภายในและการจัดนิทรรศการขึ้นมาใหม่ ศิลปวัตถุและสมบัติของชาติที่จัดแสดงมีความดึงดูดน่าชมเป็นอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต้องการการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายกับมิวเซียมสยามและภาคเอกชนเพื่อช่วยโปรโมทกิจกรรมต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์กลางคืนและงานกาล่า ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง มรดกไทยเป็นหัวใจของซอฟต์พาวเวอร์และสมควรได้รับความสนใจในฐานะส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ

      เจมส์ นาคท์เวย์  งานแสดงศิลปะ “Memoria” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เอื้อเฟื้อภาพโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

      หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่เปิดดำเนินการมานาน 15 ปีนั้น พิสูจน์ตัวแล้วว่าเป็นพื้นที่ศิลปะสาธารณะที่คึกคักและมีชีวิตชีวาที่สุด  BACC สมควรได้รับเงินสนับสนุนประจำปีจากรัฐบาลเพื่อปรับปรุง พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ และการฝึกอบรมพนักงานให้เป็นหนึ่งในศูนย์ศิลปะชั้นนำของภูมิภาคนี้ เงินสนับสนุนน้อยนิดจากกรุงเทพมหานครเป็นค่าใช้จ่ายน้ำไฟยังไม่เพียงพอ ตรงกันข้ามกันเลยกับหอศิลป์แห่งชาติในพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนรัชดา ที่อยู่ในสภาพไม่เป็นระเบียบ ไม่มีวิสัยทัศน์ ทั้งทางด้านการวางแผน การจัดการ และทรัพยากรบุคคล  การพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นโครงการเมกกะ

      โปรเจคต์ ของทักษิณขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกจัดวางให้เป็นจุดหมายปลายทางทางวัฒนธรรมและประตูสู่อาเซียน น่าเศร้าที่การวางแผนไม่ดีและการจัดการผิดพลาด ทำให้ไม่มีการใช้งาน  หลังจากสร้างเสร็จได้สองปี หอศิลป์แห่งชาติที่เสียค่าก่อสร้างและตกแต่งภายในกว่าพันล้านบาทก็ยังไม่สามารถเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ อาคารหน้าจั่วทรุดโทรม มีผลงานศิลปะมากกว่า 500 ชิ้นอัดซ้อนกันอยู่ในห้องเก็บ พื้นที่แสดงงานถูกปรับเป็นฟิตเนส ออกกำลังกายของข้าราชการ มันยืนตระหง่านเหมือนอนุสรณ์สถานแห่งความว่างเปล่าและความอับอายที่รอคอยการชุบชีวิตใหม่  เฉกเช่นเดียวกับหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน (RCAC BKK) ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ก็แทบจะไม่ได้ใช้งานเนื่องจากมีนิทรรศการและการเข้าชมจำนวนจำกัด พื้นที่ทั้งสองแห่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรวบรวมนิทรรศการถาวรอย่างครบถ้วนที่สามารถให้องค์ความรู้ด้วยประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่และร่วมสมัย ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

      สิ่งสำคัญที่ กรรมการยุทธศาสตร์ ชอฟท์พาวเวอร์ แห่งชาติ ควรตระหนักในการ กระตุ้นธุรกิจศิลปะคือการจัด Art Fair ระดับภูมิภาค แต่ถ้ายังไม่มีนโยบายลดหย่อนภาษี หรือแก้กฎระเบียบการค้า และพัฒนาระบบ แกลเลอรี่อย่างจริงจัง เราก็คงเป็นเพียงเป็นตัวประกอบใน Art Fair เช่น Art Basel Hong Kong, Art SF, Jakarta Art Fair, Art Fair Tokyo, Frieze Seoul ต่อไป

      เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงวัฒนธรรมเผชิญกับพายุเมฆดำทะมึน เมื่ออดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม อิทธิพล คุณปลื้ม ถูกหมายจับฐานไม่มาปรากฏตัวเพื่อการดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับการก่อสร้างคอนโดมิเนียมวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนซ์ ที่พัทยา สมัยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา ระหว่างการอำลาเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม อิทธิพลได้รีบหลบหนีไปเขมร และไม่มีวี่แววจะกลับมาสู้คดี จากการเป็นผู้นำทางซอฟต์พาวเวอร์ของไทย จู่ๆ อิทธิพลกลับกลายเป็นผู้หลบลี้หนีภัย ข่าวที่น่าตกตะลึงดังกล่าวเป็นเรื่องรับไม่ได้สำหรับหลาย ๆ คนที่ทำงานใต้การบัญชาของเขาในกระทรวงวัฒนธรรม

      เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ ได้เห็นรอยยิ้มกว้างแสดงความยินดีต้อนรับที่ กระทรวงวัฒนธรรม  เสริมศักดิ์แน่ใจว่าไม่มีอะไรต้องกังวลกับตำแหน่งใหม่ เพราะเคยอยู่กระทรวงมหาดไทยมาก่อน เขามั่นใจกับการสนับสนุนโครงการ หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ และการเปิดตัวศูนย์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งใหม่ พวกเราจรดจ่อรอคอยการเปิดตัวประชานิยมที่น่าตื่นเต้นนี้ หวังว่าจะไม่ได้รวมถึงการแสดงพลังอำนาจสายมูลของดวงฤทธิ์ที่ดูอุจาดและเปรอะเปื้อน แต่พยายามให้เป็นส่วนหนึ่งของความสุนทรีและซอฟท์พาวเวอร์ไทย

      อภินันท์ โปษยานนท์

      [td_block_social_counter facebook="/MusicArtMagazine" youtube="channel/UCkBloEDlSI8SYOr4tp50z-g" instagram="musicandartmag" open_in_new_window="y" style="style8 td-social-boxed td-social-font-icons"]

      Related Stories