More
    More

      Thai Youth Orchestra (TYO) เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของวงดุริยางค์เยาวชนไทย จากนิยามที่เป็นสากลของ “ความเป็นไทย” สู่สายตาชาวสเปน

      -

      Thai Youth Orchestra (TYO) เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของวงดุริยางค์เยาวชนไทย จากนิยามที่เป็นสากลของ “ความเป็นไทย” สู่สายตาชาวสเปน

      ทุกวันนี้นิยามความเป็นไทย ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เราไม่ตีความว่าความเป็นไทยต้องนั่งพับเพียบ จกข้าวด้วยมืออีกต่อไป แต่ความเป็นไทยถูกผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตที่ทันสมัยของผู้คน เพราะการข้ามทางวัฒนธรรม (Cross Culture) ได้ทลายกำแพงความแตกต่างด้านสังคมวัฒนธรรม เราดูละครเกาหลี กินอาหารญี่ปุ่น ดังนั้นนี่เป็นครั้งแรกที่ชาวสเปนจะได้รับรู้ความเป็นไทยผ่านวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าของเยาวชนไทย ที่ตีความความเป็นไทยได้อย่างเป็นสากลยิ่งขึ้น

      IMG_0691ดร.อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ ผู้อำนวยการด้านดนตรีและอำนวยการเพลงประจำวงดุริยางค์ยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (Thai Youth Orchestra under the Patronage of H.R.H. Princess Galyani Vadhanna:TYO) กล่าว พร้อมเล่าว่าความเป็นไทย แท้ที่จริงแล้วมีความโมเดิร์น และมีความคลาสสิคอยู่แล้ว เมื่อได้รับการตีความที่มีความเป็นมนุษย์เข้าไป ก็จะสามารถสื่อสารได้อย่างเป็นสากลมากยิ่งขึ้น   

      ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับโอกาสอันดีเยี่ยม จากการได้รับคำเชิญจากผู้จัดงานเทศกาลดนตรีสากลของเยาวชนออร์เคสต้า ให้เข้าร่วมงานเทศกาลดนตรีสากลของเยาวชนออร์เคสตร้า ปีที่ 6 (International Alicante Festival of Youth Orchestra :FIJO)ระหว่างวันที่ 1-9 สิงหาคม 2561  เมืองอาลีกันเต (Alicante) ราชอาณาจักรสเปน มีหลายแง่มุมที่ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้เห็นถึงศักยภาพของวงดุริยางค์เยาวชนไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

      ย้อนไปเมื่อปี 2560 วงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (Thai Youth Orchestra) สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทซิมโฟนีออร์เคสตร้า ร่วมกับวงดุริยางค์เยาวชนจากราชอาณาจักรสเปน ในการแข่งขันงานเทศกาลดนตรีเยาวชนนานาชาติ ครั้งที่ 11 (11TH Summa Cum Laude International Youth Music Festival Vienna) ประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้นานาชาติเห็นความสามารถอันโดดเด่นของวงดุริยางค์เยาวชนไทย ด้วยเหตุนี้ก้าวต่อไปของพวกเขาจึงเป็นดั่งการเปิดประวัติศาสตร์ให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆไปอีกด้วย

      image1-3

      คุณพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เล่าว่ากว่า 30 ปีที่วงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (Thai Youth Orchestra :TYO) ได้สร้างรากฐานที่สำคัญในการสร้างนักดนตรีรุ่นสู่รุ่น ก้าวสู่เวทีระดับชาติ และนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยอย่างมากมายตลอดมา

      กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้สร้างโอกาสให้เยาวชนไทยที่เล่นดนตรีแบบวงซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (symphony orchestra)  เข้าร่วมกิจกรรมดนตรีในระดับนานาชาติมาโดยตลอด นอกจากนักดนตรีได้สั่งสมประสบการณ์ความรู้ ก็ยังเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และอัจฉริยภาพทางดนตรีของเยาวชนไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีการแสดงระดับนานาชาติอีกด้วย ปีนี้มีความพิเศษ คือเราได้รับเชิญจากราชอาณาจักรสเปนให้นำเสนอความเป็นไทยผ่านวงดุริยางค์ยาวชนไทย ที่ได้รับการตีความความเป็นไทยได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง” 

      นิยามความเป็นไทยที่ว่านี้  ดร.อัครวัฒน์ ผู้อำนวยการด้านดนตรีและอำนวยการเพลงประจำวงดุริยางค์เยาวชนไทย ใช้แนวคิดหลักในการสื่อสารว่า เป็นการเล่าเรื่องที่คำถึงถึงผู้ฟังซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ผนวกเข้ากับความปรารถนาที่อยากจะให้เกิดการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยที่มีความเป็นไทยร่วมสมัย

      IMG_0665

      จากประสบการณ์ของผม และวงวีทรีโอ (Vietrio) ที่มีโอกาสได้เดินทางไปแสดงยังประเทศต่างๆ ได้พบเจอท่านทูตหลายประเทศ ซึ่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนไทยมีศักยภาพทางด้านดนตรีสูงมาก ถ้าเรานำเสนอความเป็นไทยได้อย่างเป็นสากล มีการผสมผสานระหว่างความเป็นเรากับวัฒนธรรมอื่นๆ คนฟังก็จะได้รับอรรถรสจากดนตรีไทยได้มากยิ่งขึ้น การแสดงครั้งนี้เราคำนึงถึงคนฟัง และเรื่องราวที่เราจะสื่อสาร เพราะการเล่นดนตรี คือการเล่าเรื่อง คือการใส่จินตนาการลงไปในบทเพลง

      สำหรับบทเพลงที่คัดเลือกไปนำเสนอในครั้งนี้มีแนวคิดหลักคือ แสดงถึงความไพเราะงดงามผ่านเครื่องดนตรีไทย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทย และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร อัครศิลปินผู้เชี่ยวชาญคีตศิลป์

      โดยบทเพลงอันเป็นสำเนียงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมประจำชาติไทย ที่จะได้รับการบรรเลงในรูปแบบซิมโฟนีออร์เคสตร้าที่ประเทศสเปนในครั้งนี้ คือ เพลงคลาสสิกที่นำเสนอผ่าน Romeo & Juliet ซึ่งประพันธ์โดยไชคอฟสกี ชาวรัสเซีย ซึ่งดร.อัครวัฒน์บอกว่าเล่นยาก แต่ฟังได้ง่ายเพราะเพลงคลาสสิกที่นำมาเล่นถือได้ว่าค่อนข้างยาก แต่เรื่องราวของโรมิโอแอนด์จูเลียตเป็นเรื่องราวความรักที่มีความเป็นสากล ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อใครได้ฟังก็จะซาบซึ้งได้ไม่ยาก

      รวมถึงยังมีการนำระนาดเข้าไปผสมผสานในการแสดงของวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งจะทำให้ชาวต่างชาติเห็นถึงความกลมกลืนของดนตรีไทยและดนตรีสากลผ่านทำนองเพลงพม่ารำขวานที่มีจังหวะสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ

      สุดท้ายสิ่งที่น่าจะตรึงตาตรึงใจผู้ชม คือ บทเพลงเฉลิมชัยมหาราชา คีตกวี  (Fantasia on Themes of His Late Majesty King Bhumibol Adulyadej ) ซึ่งเป็นการรวมบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลง จำนวน 4 ท่อน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยโมเดิร์น ที่มีกลิ่นอายของแจ๊สผสมอยู่ด้วย

      ทั้งหมดนี้ คือการนำพาความเป็นไทยไปสู่สายตาชาวต่างชาติ ที่มีการสร้างสรรค์ความคิดได้อย่างแปลกใหม่น่าสนใจ และน่าจับตามองว่าอนาคตของวงดุริยางค์เยาวชนไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่จุดที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย   

      วงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (Thai Youth Orchestra) ยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก ทั้งจากภาครัฐ และองค์กรเอกชน สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรม หรือต้องการให้การสนับสนุน สามารถติดต่อได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โทร 02 247 0013 ต่อ 4306

      image2

      [td_block_social_counter facebook="/MusicArtMagazine" youtube="channel/UCkBloEDlSI8SYOr4tp50z-g" instagram="musicandartmag" open_in_new_window="y" style="style8 td-social-boxed td-social-font-icons"]

      Related Stories